1. Home
  2. /
  3. ประวัติภาควิชาฯ

แผนกวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2485 หลังจาก “โรงเรียนยันตรศึกษา” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน จึงนับได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมอุตสาหการแห่งแรกของประเทศที่ได้ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมอุตสาหการออกรับใช้สังคมมาอย่างยาวนาน

ประวัติภาควิชา

ปี พ.ศ. 2485 ศ.หลวงอนุสาสน์ยันตรกรรม เป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรมอุตสาหการท่านแรก ท่านได้จัดหลักสูตรเน้นหนักไปในทางวิศวกรรมเครื่องกลและยังเพิ่มรายวิชาต่าง ๆ ทางวิศวกรรมเคมีเข้ามาในหลักสูตรอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ขณะที่แผนกวิชาวิศวกรรมสาขาอื่นๆ (สมัยนั้นมี 5 แผนกวิชา คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเหมืองแร่ และวิศวกรรมอุตสาหการ) แยกชั้นเรียนตอนต้นปีที่ 4 แต่นิสิตแผนกวิศวกรรมอุตสาหการเท่านั้นที่แยกชั้นเรียนตอนต้น โดยไปเรียนวิชา Organic Chemistry กับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งสอนโดย ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ และไปเรียนวิชาเคมีประยุกต์ต่าง ๆ จาก ศ.ดร.กัลย์ อิศรเสนาฯ และ ศ.ทองสุข พงศทัต เป็นต้น นอกจากวิชาเคมีดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว วิศวกรอุตสาหการรุ่นแรก ๆ ยังต้องเรียนวิชาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางเคมีอีก เช่น เรียนวิชาการทำน้ำตาล (Sugar Technology) วิชาการทำเครื่องเคลือบดินเผา (Ceramic Technology) และวิชาการทำแอลกอฮอล์และสุราต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า หลักสูตรทางวิศวกรรมอุตสาหการรุ่นแรกจะเน้นไปทางวิศวกรรมเครื่องกลผสมกับวิศวกรรมเคมีซึ่งยังไม่มีการจัดตั้งเป็นแผนกวิชาขึ้นในสมัยนั้น
 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้าสู่ระยะรีบเร่งในการผลิตคน ทางด้านมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมให้เร่งผลิตบัณฑิตในปี 2486 ให้ผลิตปีละ 2 รุ่น โดยเพิ่มชั่วโมงเรียนไปถึง 2-3 ทุ่ม แต่ก็ทำได้เพียงปีเดียวคือปี 2486 ผลิตบัณฑิตได้ 2 รุ่น แต่ปีต่อๆ มาก็ไม่ได้ทำ อาจเป็นเพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก การสอนวิชาวิศวกรรมอุตสาหการโดยหลักสูตรแรกนี้ได้ดำเนินมาจนถึงปี พ.ศ. 2490 ก็ต้องปิดไปชั่วคราว ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยนั้นมีผู้มาเรียนทางด้านอุตสาหกรรมน้อย และงานทางด้านอุตสาหกรรมภายนอกที่จะรองรับก็ยังไม่เจริญตามมากเท่าที่ควร ในช่วงระยะเวลาที่ไม่มีการสอนทางภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (พ.ศ. 2490-2500) นั้น ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ดำเนินการทางบุคคลากร โดยทำการส่งเสริมอาจารย์ทางแผนกวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ให้ไปเรียนต่อทางวิศวกรรมอุตสาหการในอเมริกา ดังนั้นหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการรุ่นต่อๆ มาจึงละม้ายเหมือนไปทางหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการของอเมริกา
 
ระยะนั้นรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นขั้น โดยได้ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้เป็นช่วงๆ ละ 5 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแผนที่ 1 ตั้งไว้ในช่วง พ.ศ. 2504-2508 และเพื่อให้มีฐานทางด้านการลงทุนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับแผนพัฒนาที่สร้างขึ้นมา ทางรัฐบาลจึงตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น แผนกวิชาวิศวกรรมอุตสาหการในระยะนั้นพิจารณาดูแล้วเห็นว่าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจึงเห็นควรที่จะเปิดการสอนทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการขึ้นมาอีกครั้งเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านอุตสาหการ ไปรับใช้งานอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้บัณฑิตของวิศวกรรมอุตสาหการจึงเกิดขึ้นมาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2500 ผู้ที่มาเรียนวิศวกรรมอุตสาหการช่วงเวลานี้นั้นจะมีมาจาก 3 แหล่ง คือ พวกแรกจะเป็นนิสิตที่เข้ามาเพื่อเรียนโดยตรงตั้งแต่ปีที่ 1 พวกที่สองนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นพวกที่เรียนสำเร็จอนุปริญญาวิทยาศาสตร์ซึ่งทางแผนกวิศวกรรมอุตสาหการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสามารถที่จะชักจูงให้มาเรียนทางแนววิศวกรรมเคมีเพิ่มเติมได้ และเมื่อจบออกไปแล้วก็ยังสามารถไปช่วยทำงาน ให้ประเทศชาติได้อีกมาก
 
ด้วยเหตุนี้วิศวกรรมอุตสาหการตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมาจึงแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือวิศวกรรมอุตสาหการโรงงาน กลุ่มที่สองคือวิศวกรรมอุตสาหการเคมี การกระทำในลักษณะนี้ได้มีมาเรื่อยจนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดตั้งแผนกวิชาวิศวกรรมเคมีขึ้น แผนกวิศวกรรมอุตสาหการเคมี จึงแยกออกไปรวมกับวิศวกรรมเคมีตั้งแต่บัดนั้น ส่วนพวกที่สามที่เข้ามาเรียนวิศวกรรมอุตสาหการโรงงานนั้นจะมาจากผู้ที่จบวิศวกรรมเครื่องกลแล้วมาศึกษาในแผนกวิศวกรรมอุตสาหการอีกหนึ่งปี ก็จะมีคุณวุฒิครบตามหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการโรงงาน พวกที่จบสองหลักสูตรนี้จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก การดำเนินงานแบบนี้มาสิ้นสุดลงเมื่อทางรัฐบาลออกนโยบายพิจารณาเงินเดือน โดยยึดหลักใช้ปริญญาสูงสุดเพียงอย่างเดียว
 
วิศวกรอุตสาหการโรงงานช่วงที่สองนี้จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิศวกรรมเครื่องกลมากยกเว้นแต่ ต้องเรียนวิชาหลักของวิศวกรรมอุตสาหการเพิ่มเติมและผนวกกับวิชาด้านบริหารเข้าไปด้วย ด้วยเหตุนี้วิศวกรอุตสาหการจึงเป็นวิศวกรแผนกเดียวที่เรียนรู้งานบริหารควบคู่ไปกับวิชาชีพวิศวกร การปรับปรุงหลักสูตรได้ดำเนินอยู่ตลอดเวลา แผนกวิศวกรรมอุตสาหการได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทขึ้นในปี พ.ศ. 2516 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ” เมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ที่ออกมาใหม่ ปัจจุบันการบริหารงานวิชาการของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากจากแต่ก่อน เพื่อดำรงความทันสมัยในสายวิชาการ และการประยุกต์องค์ความรู้ เทคนิค ให้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรม ในการผลิตบัณฑิตและผลงานวิชาการ ให้มีคุณภาพตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
Scroll to Top